วันพฤหัสบดีที่  20 มิถุนายน 2567 เวลา 11.30 นาฬิกา ณ จุดรับยื่นหนังสือ ชั้น 1 (โซนกลาง) อาคารรัฐสภา   นายปดิพัทธ์ สันติภาดา  รองประธานสภาผู้แทนราษฎร คนที่หนึ่ง รับยื่นหนังสือจาก  นายกฤษฎา บุญชัย ผู้แทนคณะผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งที่ประสงค์เป็นผู้เชิญชวน และคณะ  เรื่อง  ขอริเริ่มเสนอร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. ….

ด้วยคณะผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่ประสงค์เป็นผู้เชิญชวน จำนวน 20 คน ขอยื่นเรื่องริเริ่มในการเสนอร่างพระราชบัญญัติ เพื่อให้รัฐสภาพิจารณาตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560  โดยมีหลักการและเหตุผลเพื่อให้มีกฎหมายว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน ได้เป็นที่ประจักษ์ชัดแล้วว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบเสียหายอย่างมีนัยสำคัญทั้งในประเทศไทย ในภูมิภาคและทั่วทั้งโลก โดยมีสาเหตุมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมต่าง ๆ ของมนุษย์ ซึ่งประมาณ 3 ใน 4 ของก๊าซเรือนกระจก คาร์บอนไดออกไซด์เกิดจากการเผาเชื้อเพลิงฟอสซิลเพื่อหลีกเลี่ยงความเสียหายอย่างใหญ่หลวงจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยสหประชาชาติกำหนดเป้าหมายให้สมาชิกร่วมกันป้องกันไม่ให้อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกในปี พ.ศ. 2653 สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียส เมื่อเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมนอกจากนี้คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ตั้งเป้าหมายว่าการปล่อยสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 ซึ่งหมายความว่ามนุษย์ต้องไม่เพิ่มก๊าซเรือนกระจกใหม่เข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกอีก แม้ประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ถึงร้อยละ 1 ของโลก แต่ก็สูงเป็นอันดับ 20 ของโลก ด้วยโครงสร้างการพัฒนาทั้งด้านพลังงาน อุตสาหกรรม เกษตรพาณิชย์ และอื่น ๆ ที่อยู่บนฐานพลังงานฟอสซิลที่ยังปล่อยก๊าซเรือนกระจก ดังนั้น ประเทศไทยสามารถรับผิดชอบต่อวิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกและของประเทศได้มากขึ้นด้วยการเปลี่ยนผ่านโครงสร้างการพัฒนาด้านต่าง ๆ ให้ลดก๊าซเรือนกระจกอย่างรวดเร็วให้ทันกับปัญหาวิกฤติโลกตามข้อเสนอของคณะกรรมการฯ ดังนั้น เพื่อทำให้ประเทศไทยมีบทบาทสำคัญในการช่วยกู้วิกฤติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและฟื้นฟูระบบนิเวศของโลกให้ควบคุมอุณหภูมิโลกไม่เกิน 1.5 องศาภายในปี พ.ศ. 2573 ด้วยการที่ประเทศไทยจะปรับลดก๊าซเรือนกระจกให้ได้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 45 ภายในปีดังกล่าว โดยมีเป้าหมายให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากภาวะเสี่ยงอันดับต้นของโลกจากผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงจำเป็นต้องตราพระราชบัญญัตินี้ต่อไป
 
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา กล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า ยินดีต้อนรับคณะผู้เชิญชวนทุกท่าน  ขณะนี้กฎหมายที่มีภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมมีอยู่หลายฉบับ   อาทิ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. หรือร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม สำหรับร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เป็นธรรมและยั่งยืน พ.ศ. ….   ข้อเสนอของร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวสามารถนำไปประกอบการพิจารณาร่วมกับร่างพระราชบัญญัติฉบับอื่นที่มีลักษณะในทำนองเดียวกัน  เพื่อที่จะให้ครอบคลุมประชาชนทุกกลุ่ม  อย่างไรก็ตาม ภาครัฐบาลและภาคประชาชนเห็นพ้องต้องกันว่าจะต้องทำให้อากาศสะอาด  และจะนำเรื่องดังกล่าวดำเนินการตามขั้นตอนต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *