โครงการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพ ดำเนินการครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๕๔๘ และโครงการได้ดำเนินงานต่อเนื่อง     จนกระทั่งปัจจุบันเมื่อมูลนิธิฯ ที่ได้รับการจดทะเบียนจัดตั้งขึ้น ในปี ๒๕๕๓

โดยแผนงานในปี ๒๕๖๘ได้แบ่งการดำเดินงานด้าน ฝึกอบรม ตามโครงการฝึกอบรมและพัฒนาศักยภาพ ดังนี้

การอบรมช่วงแรก   ระหว่างเดือน  พฤษภาคม  – กรกฎาคม  ๒๕๖๘

การอบรมช่วงที่สอง ระหว่างเดือน กันยายน – พฤศจิกายน  ๒๕๖๘

โดยการฝึกอบรม ได้แบ่งกิจกรรมและการดำเนินงาน เป็น ๓ ช่วง ในปี ๒๕๖๘

ช่วงที่ ๑   มกราคม – เมษายน ๒๕๖๘  ขั้นตอนการเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมอบรม หลังจากที่ทำการคัดเลือกใบสมัครครบเต็มจำนวนแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้ประสานงาน และอาสาสมัครชาวต่างชาติ ลงพื้นที่ สัมภาษณ์ เพื่อคัดเลือกผู้เข้าร่วมอบรม จาก ประเทศ ไทย ลาว เมียนมาร์ กัมพูชา  เวียดนาม  (อยู่ระหว่างการวางแผน)  ประเทศ ละ ๒ คน มาจากประเทศ เมียนมา ๘ คนรวมเป็นจำนวนทั้งสิ้น ๑๖ คน ถึง ๑๘ คน ตามแผนงานงบประมาณที่ตั้งไว้

ช่วงที่ ๒   พฤษภาคม  – กรกฎาคม  ๒๕๖๘  เปิดโครงการ ได้กำหนดให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในห้องเรียนแบบออนไลโดยแบ่งประเด็นการเรียนรู้เป็นหมวดวิชาฝึกอบรมต่างๆ ตามความเหมาะสม เช่น การฝึกอบรมว่าด้วยการสื่อสารข้ามวัฒนธรรม กฎหมายสิ่งแวดล้อมสากล กลไกการทำงานของสถาบันการเงินนานาชาติ เป็นต้น

ช่วงที่ ๓  กันยายน ถึง พฤศจิกายน  ๒๕๖๘  การฝึกอบรมที่จังหวัดเชียงใหม่ โดยได้มีการเชิญวิทยากรผู้มีความรู้และประสบการณ์ในประเด็นต่างๆ จากทั่วโลกและภายในประเทศไทย และในระหว่างนี้ ได้มีการออกศึกษาดูงานสนามในพื้นที่ต่างๆ ในประเทศไทยสลับกับการเรียนและฝึกอบรมในห้องเรียนด้วย เช่น การศึกษาดูงานพื้นที่ลุ่มน้ำโขง อำภอเชียงของ  จังหวัดเชียงราย การศึกษาแลกเปลี่ยนด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศชายฝั่งทะเลตะวันออก เป็นต้น การศึกษาดูงานนั้น ก็เพื่อใช้เป็นกรณีศึกษาให้กับผู้เข้าอบรม  มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์จากชาวบ้านในพื้นที่จริง รวมทั้งการจัดตั้งองค์กรชุมชนและการสร้างเครือข่ายของชุมชน 

โครงการทำงานการศึกษาวิจัยเชิงปฏิบัติการระยะสั้นในประเด็นที่ผู้เข้าร่วมฝึกอบรมสนใจ  โดยการเลือกพื้นที่และกรณีศึกษาที่เกี่ยวข้องทั้งการพัฒนา สภาพแวดล้อม และวิถีชีวิตชุมชน ในประเทศของตนเอง ในระหว่างการทำงานสนามศึกษาวิจัยของผู้เข้าอบรมนั้น เจ้าหน้าที่โครงการจะเดินทางไปให้คำปรึกษาและออกติดตามให้คำแนะนำและร่วมแลกเปลี่ยนในพื้นที่แต่ละประเทศตามความเหมาะสม ในการกลับไปในประเทศของตนนั้นได้ก่อให้เกิดการนำเอาประสบการณ์ที่ได้จากการเรียนรู้ในห้องฝึกอบรมและการศึกษาดูงาน กรณีศึกษาในประเทศไทยไปวิเคราะห์เปรียบเทียบและพิจารณาปัญหาในประเทศของตน  ทั้งนี้การนำไปพินิจพิเคราะห์นั้นได้ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อบริบททางการเมือง สังคม วัฒนธรรม และนิเวศวิทยา ที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศทำให้มีการทำความเข้าใจประเด็นปัญหาในประเทศของตนได้ชัดเจนขึ้น รวมถึงเข้าใจและตั้งรับในประเด็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก

ช่วงสุดท้ายของโครงการ ผู้เข้าอบรมจากแต่ละประเทศจะได้นำเอาผลงานวิจัยของตนเองมานำเสนอและร่วมกันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่สำคัญในการทำงานวิจัยเชิงปฏิบัติการ เนื่องจากบริบททางการเมือง สังคม วัฒนธรรม และนิเวศวิทยาของแต่ละประเทศแตกต่างกัน การทำงานวิจัยจึงต้องมีความละเอียดรอบคอบเป็นพิเศษ ดังนั้น วิธีวิจัยและกลยุทธ์ที่แตกต่างกันออกไป กระบวนการวิจัยในพื้นที่ที่มีบริบทที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงจึงเป็นเรื่องท้าทายและก่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้อีกรูปแบบหนึ่งของผู้เข้าอบรม

วัตถุประสงค์โครงการ

  • เพื่อเสริมสร้างทักษะด้านการเป็นผู้นำ การทำงาน และการพัฒนาองค์กรในรูปแบบขององค์กรพัฒนาเอกชน
  • เพื่อส่งเสริมทักษะการทำงานด้านกฎหมายสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ และข้อดีข้อเสียของการบังคับใช้กฎหมายต่อชุมชน โดยผ่านการศึกษาและวิเคาระห์ข้อมูลในรูปแบบงานวิจัยในพื้นที่ชุมชนของตนเอง
  • เพื่อพัฒนาทักษะการเขียนแผนโครงการและนำเสนอแหล่งทุนหรือสรรหาแหล่งทุนระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาโครงการขององค์กรและชุมชน
  • เพื่อพัฒนาทักษะภาษาอังกฤษตลอดระยะเวลาที่เข้าร่วมอบรม